ตอนที่ 2: เมื่อต้องใช้มอร์ฟีนระงับความเจ็บปวด
- AmpAmp
- Mar 29, 2017
- 3 min read
เอาจริงๆ เกิดมาก็ไม่เคยที่จะรู้สึกว่าตัวเองพยุงร่างไม่ไหว ขอเล่าข้ามมาเลยเพราะตั้งแต่วันที่ได้ไปสวดมนต์ที่วัดป่าเจริญราช เพื่อจะสวดข้ามปีและไม่สำเร็จนั้น ก็ไม่ได้ไปไหนไกลเลย เป็นปีใหม่ที่เงียบและเซ็งนิดหน่อยสำหรับเรา โชคดีเป็นคนที่ชอบอยู่บ้าน เก็บบ้าน ทำต้นไม้ ทำ hobby ตัวเองในห้องที่บ้าน เลยไม่ได้เศร้าอะไรมาก แต่อาการที่ป่วยนี้ กลับทำให้เรานั่งทำสิ่งที่เราชอบตอนอยู่ที่บ้านไม่ได้เลย ระหว่างวันที่ 1 -3 มกราคม 2560 เราก็ไม่ได้ไปไหนไกลบ้านเลย เพราะรู้สึกว่านั่งรถนานไม่ได้ ต้องเอนเบาะราบไปเยอะๆ ซึ่งทำให้ไม่อยากไปกินข้าวนอกบ้านเลย เอาจริงๆนะ รู้สึกว่าเริ่มแย่ละ ว่าเฮ้ยเราเป็นอะไรร่างกายเราเป็นอะไร แต่ก็ยังเปิดคอม ดูอีเมลล์ ทำรีพอร์ท ทำพรีเซนต์เทชั่น ส่งที่ออฟฟิสอยู่ระหว่างนี้
แต่เรื่องที่จะเล่านี้เกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2560 เวลาประมาณ 20:00 น. รู้สึกว่าปวดกล้ามเนื้อบ่า ไหล่ สะบักเพิ่มขึ้นมาก กล้ามเนื้อหัวไหล่ แขน เจ็บหมด ตอนนี้อาการสำคัญที่มีมากขึ้นก็คือ มีอาการชาอย่างเห็นและรู้สึกได้ชัดเจนที่มื อ ตอนที่รู้สึกนี้เรานอนราบแล้ว เพราะไม่สามารถนั่งเก้าอี้โซฟาที่บ้านที่เป็น reclining chair ที่นั่งปกติได้ ทั้งที่ความจริงเก้าอี้นี้ปกติเรานั่งสบายมากๆ ไม่เมื่อยหลังอะไรเลย แถมนั่งยาวๆดูหนังได้ไม่มีปัญหา
เรานอนราบตั้งแต่สองทุ่ม นอนที่เตียง หมอนต่ำสุด และคอยจับความรู้สึกตนเอง ว่าเป็นอย่างไร สรุปคือ ทนไม่ไหวจนต้องร้องไห้ออกมา คือเอาจริงคือความรู้สึกคิดว่าแขนข้างซ้ายเราจะเป็นอัมพฤกษ์ไหม เพราะดูอ่านแรงมากๆ ยิ่งส่วนที่เป็นคอนั้นไม่ต้องพูดเลย ไม่สามารถตั้งคอได้ เพราะล้ามาก
เมื่อเหตุการณ์ดูไม่ดีมากๆ สามีก็จัดการพาไปหาหมอทันที แต่ต้องขอบคุณในความคิดที่รอบคอบของสามีที่คิดว่าในเวลา 21:00 น. แบบนี้ และอาการของเราก็เป็นเยอะขนาดนี้ สามีเลือกที่จะขับรถพาเราไปพบแพทย์ที่ รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ เพราะถ้าไปตอนดึก เราก็จะเจอแต่แพทย์เวร แต่แพทย์เวรที่นี่ก็สามารถโทรคอนซัลท์กับอาจารย์หมอได้ ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีมากๆ
ถามว่าบ้านอยู่รังสิตไม่ใช่เหรอทำไม รพ.นี้ อยากบอกว่าสามีขับรถเร็วมาก สรุปแอมก็นอนราบไปเอนเบาะหน้ายาว จำได้ว่าดูนาฬิกาที่รถตลอดเวลา เพราะ ขณะที่นั่งในรถ ขอพูดเลยว่าจับความรู้สึกบนถนนได้ทุกอย่างที่มันกระเทือนขึ้นมาที่คอ ไม่ว่าจะเป็นตัวหนอนในหมู่บ้านที่มี สะพาน คลอง หลุม บ่อที่ถนน อยากบอกว่ารู้สึกหมด คือมันทำให้กระเทือนที่ปวดมากๆ
วันที่ 3 ธค 59 – เวลา 21:30 น. ใช่เขียนไม่ผิดหรอก สามีใช้เวลา 30 นาที จากบ้านที่รังสิตคลอง 2 ถึง รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ภายใน 30 นาทีเป๊ะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนเข็นเปลเอาเก้าอี้มารับ แต่แอมไม่สามารถนั่งได้แล้ว เค้าเลยเปลี่ยนเข็นเตียงมาให้นอนราบ และเข็นไปที่แผนกฉุกเฉิน เรามีบัตรของ รพ. นี้อยู่แล้ว เพราะ มีนาคม 2559 เราก็เพิ่งไปผ่าซีสที่นี่ สรุปเข้า check in รักษาแบบว่องไว อาการปวดของแอมรุนแรงมาก คือปวด คอ บ่า ไหล่ แขน มือนิ้ว ชา และมีปวดหัวร่วมด้วยอย่างรุนแรง – เดาไม่ยาก ดอกแรกของการรักษาคือ เราได้รับการฉีดมอร์ฟีนเพื่อให้อาการปวดทุเลาลง ซึ่งเอาจริงๆนะ ได้ผลดีเชียว อาการปวดเราลดลงไปอย่างมาก คุณหมอก็ให้ไป X-Ray ต่อที่ห้องฉายแสง คือไปห้องนี้ นี่ฮามาก เพราะว่าขณะที่ต้อง X-Ray นั้น พอทำไประยะนึงก็รู้สึกว่าตัวเองนี่แหละจะเป็นลม ก็บอกคนในห้องว่ามึนหัวจะเป็นลม เค้าก็เหมือนจะคิดว่าเราโอเค เลยถ่ายไปอีกครั้ง สรุป เลยเสียงดังในห้องบอกเค้าไปว่าไม่ไหวแล้วคะ คือตอนนั้นทรุดไปที่สิ่งของใกล้เคียง ควาน ยึดอะไรได้ยึด เค้าก็เลยจับขึ้นเตียงเข็นกลับไปที่แผนกฉุกเฉิน พยาบาลก็ทำการมาวัดความดันผลก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ สรุปคือเมายาค่า เมามอร์ฟีนนั่นเอง (โอ้ย ขำตัวเอง)
พออาการปวดดีขึ้นเนื่องจากได้มอร์ฟีนไปแล้ว เลยรวบรวมสติ และถามคุณหมอไปว่า
เรา: คุณหมอคะเราจะรักษากันอย่างไรต่อคะ
คุณหมอ: ก็ตอนนี้เราฉีดยาไปแล้ว ทำการ X- Ray กระดูกที่ต้นคอ ไปแล้ว และปรึกษาอาจารย์หมอว่าพรุ่งนี้เช้าจะต้องทำ MRI วันนี้จึงสามารถกลับบ้านไปก่อนได้นะคะ
เรา: (คิดในใจว่าเราจะไม่ยอมนั่งในรถกลับบ้านแน่ๆคืนนี้ เพราะเจ็บทรมานมากตอนที่นั่งรถมา) เลยขอคุณหมอว่าจะนอนที่ รพ. เพราะนั่งรถกลับไม่ไหว
คุณหมอ: งั้นก็ตามนั้น จะได้ MRI ตอนเช้า
สรุปคือ ได้นอนที่ รพ. ศิริราชฯ และได้ทำ MRI ตอนเช้า วันที่ 4 ธันวาคม ประมาณ 6:30 น.
การทำ MRI
เช้าวันที่ 4 มกราคม เป็นเวลาประมาณ 6 โมงเช้า แทบไม่อยากจะตื่น เพราะเมื่อคืนที่เข้ามาที่ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ด้วยอาการที่ปวดมากนั้น คุณหมอก็ทำการฉีดมอร์ฟีนให้ และให้ X-Ray ที่ช่วงคอ เช้านี้คุณบุรุษพยาบาลก็ทำการเข็นเตียงมารับ เพื่อไปทำการ MRI – Magnetic Resonance Imaging
ขั้นตอนการทำที่เราได้ทำ ใช้เวลาประมาณ 40 นาที จะมี Headphone ให้ครอบหูเราไว้ เพราะจะมีเสียงอี๊ดๆๆๆๆค่อนข่างดังเหมือนกัน จึงต้องใส่ตลอดเวลาที่ทำการ MRI เอาจริงคือเป็นคนชอบฟัง Hip Hop เลยพยายามคิดว่าเสียงที่ได้ยินคือเสียงดนตรี จริงๆก็แอบกลัวแหละ พอทำเสร็จ เราก็ถูกเข็นกลับไปที่ห้องพักต่อ หลังจากนั้นก็ทานยาลดปวด ลดอักเสบตามที่คุณหมอจ่ายไว้ให้
เครดิตภาพจาก รัชวิภา เอ็ม อาร์ ไอ

พอทานข้าวเสร็จสักพักประมาณ 10 โมงครึ่ง ก็พบอาจารย์หมอจตุพร โชติกวณิชย์ ซึ่งเป็นเจ้าของไข้เราในเวลาต่อมา คุณหมอเข้ามาที่ห้องพักและ บอกกับเราว่าเราป่วยเป็นอะไร สรุปคือ เราเป็นโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม และมีการกดทับที่เส้นประสาท มีการกดทับตั้งแต่ข้อ 2-3, 3-4, 4-5, 5-6, 6-7 (คือจริงๆทับกันยาวเลยทั้งแถบ) คุณหมอบอกว่าเราเป็นขั้น Severe มาก ก็หมายถึงขั้นรุนแรงสุดๆเลย นั่นคือทำให้เราไม่สามารตั้งคอได้ ปวดร้าวมาที่ต้นคอ บ่า สะบัก ร่องสะบักด้านหลัง กล้ามเนื้อหัวไหล่ เอ็นกล้ามเนื้อใกล้ศอก กล้ามเนื้อแขน ปวดข้อมือ
คุณหมอได้พูดถึงการรักษาด้วย ว่าสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดที่คอ ซึ่งเอาจริงคือปีทีแล้วเพิ่งผ่าตัดไปซีสที่ท้องไป ปีนี้เลยไม่อยากจะผ่าตัดแล้ว เลยบอกคุณหมอว่ายังไม่อยากผ่า คุณหมอเลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นช่วงนี้ต้องงดกิจกรรมที่เคยทำไว้ก่อนเลย และแนะนำให้นอนราบไม่นอนหมอนสูง เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู หมอบอกว่าเราใช้ร่างกายเยอะมาก ต้องพักฟื้นเยอะๆ (ทีนี้ก็มีการพักงานยาวเลย) และระหว่างนี้คุณหมอแนะนำให้ไปทำกายภาพในวันเดียวกันนี้เลย

ภาพเปรียบเทียบของกระดูกสันหลังปกติกับกระดูกเสื่อม
ขอบคุณภาพจาก https://boringdoc.blogspot.com/2016/02/blog-post_16.html
เอาจริงนะ ตอนหมอพูดเสร็จนี่คือใจอ่ะร้องไห้ไปแล้ว คือหัวเบลอไปหมด เสียใจสุดๆว่าทำไมต้องเป็นเรา แต่คนใกล้ชิดก็ให้กำลังใจบอกว่าดีแล้วที่รู้ตั้งแต่ตอนนี้ คือปลอบสารพัด แต่ใจเรานี่คือเสียใจสุดๆ คือ สิ่งที่ดีและทำให้เราไม่เจ็บปวดที่สุดในตอนนี้คือ นอนราบอย่างเดียว แต่ก็สามารถที่จะลุกไปห้องน้ำเองได้ แต่เป็นแบบลุกช้า เดินช้า แต่จะตั้งคอนานไม่ได้คือถ้าไปห้องน้ำแล้วก็ต้องรีบกลับมานอนต่อ เพราะถ้าเกิน 2 นาที กล้ามเนื้อเราจะปวดขึ้นมาทันที ซึ่งเวลาปวดนี่ทรมานที่สุด ถ้ามีอาการปวดมาก คุณพยาบาลก็จะให้ยาแก้ปวดที่ส่วนผสมของมอร์ฟีนทานเพื่อบรรเทาการปวดได้

เครดิตภาพจาก http://www.vcharkarn.com/vcafe/221117
จากภาพที่เห็นเป็นสีแดงๆในฟิลม์ x-ray แสดงให้เห็นว่ากระดูกคออยู่ผิดธรรมชาติ ซึ่งในความเป็นจริงกระดูกต้นคอเราจะต้องเป็นโค้ง ไม่ใช่ตรงแหน่วแบบนี้

ภาพจาก http://hangup180.com/
ที่แสดงให้เห็นว่าเวลาหมอนรองกระดูกปลิ้นที่เป็นสีส้มๆ มันปลิ้นออกมาทับเส้นประสาทสีเหลืองๆ ซึ่งเส้นประสาทเหล่านี้ที่โยงเป็นรากไม้ทั่วร่างกายเรา
ตอนนี้หัวใจก็ทำใจไปแล้วว่าร่างกายมันจะไม่เหมือนเดิม มือไม่มีแรงเลย คือเครียดนะ แต่ต้องขอบคุณคนที่ใกล้ชิดที่ดูแลเป็น อย่างดีในทุกๆอย่าง และไม่เคยซ้ำเติมกับอาการป่วยนี้เลย ณ เวลานี้หงุดหงิดตัวเองมากกว่า เพราะทำอะไรเองไม่สะดวกเลย หยิบจับอะไรไม่ค่อยมีแรง ยกเว้นมือขวา ช่วงนี้พยายามเรียนรู้กล้ามเนื้อในร่างกายตัวเอง (ด้วยตัวเองแบบคร่าว) ว่าถ้าเราบีบจับอะไรมือขวาด้วยแรงเท่าไหร่ มันจะกระทบมาที่สะบัก ต้นคอดอด้านหลังด้วย แต่ระหว่างนี้ก็ต้องนอนราบ หมอนต่ำๆ ก็จะทำให้หลับสบายไม่เจ็บ
Website ที่เกี่ยวข้อง:
รพ.ศิริราชปิยะมหราชการุณย์ http://www.siphhospital.com/th/home
การเตรียมตัวก่อนทำ MRI , CT Scan http://rachvipamri.com/2015/02/preparation-mri-ct/
เริ่มชีวิตการเป็นผู้ป่วยกระดูกคอเสื่อม และทับเส้นประสาท
หลังจากที่คุณหมอเดินออกจากห้องไปแล้ว ก็รู้ตัวแล้วว่าเราได้เป็นผู้ป่วยกระดูกคอทับเส้นประสาทอย่างเต็มตัวแล้วหลังจากที่คุณหมอเคาะแล้วเมื่อตอนเช้าตอนที่บอกผล MRI เอาจริงนะ คือจ๋อยมาก คุณหมอก็มีคำแนะนำว่าให้เลิกใช้โทรศัพท์ Smartphone ไปเลยนะ สำหรับเคสคุณผมว่าก็น่าจะเกิดจากการทำงานคอมพิวเตอร์บนโต๊ะมายาวนานทำให้กระดูกคอมันผิดรูป ทีนี้หมอนที่มันรองกระดูกคอเลยปลิ้นไปโดนเส้นประสาท
แอมขออธิบายเองง่ายๆนะคะว่า เส้นประสาทในร่างกายเรามันเหมือนรากไม้ที่เดินรากเต็มไปทั่วทั้งร่างกายกายของคนเรา ทีนี้พอปลิ้นมันเลยไปทับเส้นประสาทมันก็เลยทำให้มีอาการเจ็บไปที่กล้ามเนื้อส่วนมือด้านซ้าย บ่า สะบัก คอ ของเราและมีอาการชามือเป็นอย่างมาก คือเหมือนมีกระแสไฟอ่อนๆวิ่งที่มือตลอดเวลา สำหรับคนที่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่หลังก็จะทำให้เจ็บที่กล้ามเนื้อส่วน ก้น ขา สะโพก และลงไปขา มีอาการชา และอาการจะเดินย่ำเท้าไม่ได้นะคะ (ยังงัยใครมีประสบการณ์ก็มาแชร์ก้นได้นะคะ) สำหรับเราตอนนอนจะเหมือนมีแมลง มีมด มาเดินมาเกาะที่ขา ทั้งสองข้าง ตามตัว ตามแขน ทำให้เราเกาขาเป็นแผลเยอะเลย ซึ่งก็น่าจะเกิดจากที่เส้นประสาทถูกกระทบกระเทือน ทำให้เกิดอาการยุบๆยิบๆคันทั่วร่างกาย ซึ่งบอกตรงๆสุขภาพจิตเสียมาก นึกว่ามีมดขึ้นเตียง 5555 คือตกกลางดึกต้องมาสะบัดผ้า ซึ่งจริงๆไม่มีตัวอะไรเลย
แต่วันเดียวกันก็มีเพื่อนมาเยี่ยม อยากบอกว่าเพื่อนที่มาเยี่ยมนี่เป็นกำลังใจให้เป็นอย่างดีสุดๆ แต่ช่วงเวลาดังกล่าวมือซ้ายไม่สามารถยกโทรศัพท์ smart phone ที่ใช้ประจำได้เลย คือไม่มีแรงสุด หยิบโทรศัพท์ทีปวดข้อมือมากๆ มืออ่อนแรงสุดๆ คืออยากบอกว่าช่วงที่ผ่านมาก็มีเพื่อนที่พยายามส่งข้อความมาทางไลน์ และ เฟสบุค ถามเยอะ แต่พูดเลยว่าพิมพ์กลับไม่ไหว มืออ่อนแรงมากๆ แต่ก็ตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่าถ้าอาการดีขึ้นเนี่ย จะเขียนเล่าให้ใครๆได้รู้ของภัยเงียบของโรคที่แอมเป็นนี่แหล่ะ เพราะตอนนี้เป็นเองและ รู้แล้วว่ามันทรมานและไม่สะดวกในการใช้ชีวิตแค่ไหน
อยากเล่าคร่าวๆว่ากระดูกคอมีประมาณ 7 อัน แต่ของเรามันทับบี้กันทุกข้อ แต่ที่เป็นเยอะๆนี่ก็ข้อที่ 5-6-7 ซึ่งถ้าเราไม่ได้ทำ MRI ก็จะไม่มีทางเห็นแน่นอน เพราะฉะนั้นเพื่อนๆคนไหนสงสัยว่าตัวเองจะเป็นก็ต้องทำ MRI นะจ๊ะ (ค่าใช้จ่ายการทำ MRI กระดูกที่คออยู่ที่ประมาณ 8,000 – 10,000 บาทค่ะ อันนี้เป็นเรทที่เราหาที่ รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ค่ะ)

วันนี้ก็มีบุรุษพยาบาลเอารถเข็นมารับไปทำกายภาพ ต้องขอขอบคุณพี่คนเข็นรถพยาบาลที่ รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ มาก เพราะเข็นรถได้เบามาก เวลาถึงร่องทางเดินหรืออะไร มีความระวังขั้นสูงมากๆ คือถ้ามีเนินสะดุดเล็กๆ พี่เค้าจะบอกให้เราเตรียมระวังตัวก่อนเลย (จะได้เกร็งคอด้วย)
ขั้นตอนการทำกายภาพ ก็จะมีนักกายภาพมาทำการประเมินอาการเจ็บป่วยที่เราเป็น และมีการเช็คกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่เราเจ็บป่วย ซื้อเราปวดแขนซ้ายทั้งแขน และบ่าซ้าย สะบัก คอ นักกายภาพก็จัดให้มีการ
การรักษาด้วยคลื่นอัลตาซาวน์ – Ultrasound Therapy
รักษาด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า
ประคบร้อน
การดึงคอ – Cervical Traction หรือ Neck Traction นั่นเอง
ถามว่าเจ็บไหมตอนทำกายภาพ อยากบอกว่าไม่เจ็บเลย ทนได้ กระแสไฟโอเค คือหรือเป็นมากมั้งเลยไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่เลย สำหรับการดึงคอ นักกายภาพจัดให้เราเริ่มใช้น้ำหนักที่ 7 กิโลกรัมในการดึงคอ เอาจริงๆนะ ตัวเองเป็นคนที่รับ Pain เก่งมาก ถือว่าการทำกายภาพครั้งแรกนี้ผ่านไปด้วยดี ทำทั้งสี่ขั้นตอนนี้ประมาณเกือบหนึ่งชั่วโมง พยาบาลก็มาเข็นกลับมานอนพักที่ห้องผู้ป่วยต่อไป ซึ่งก็มีการนัดทำกายภาพในวันรุ่งขึ้นเช่นกัน
แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ http://www.siphhospital.com/th/medical-services/treatment-center/rehabilitation-center
สำหรับคนที่อยากรู้เรื่องโรคนี้อย่างละเอียด เข้าไปอ่านในนี้เลยค่ะ เขียนได้ดีเชียวhttps://boringdoc.blogspot.com/2016/02/blog-post_16.html
จะรู้ได้อย่างไรว่า หมอนรองกระดูกคอเสื่อม/ทับเส้นประสาท
สำหรับอาการที่เราเจ็บมากๆ และปวดกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆของร่างกายก็พบว่าหลักที่เป็น สำหรับกระดูกข้อที่ 4-5, 5-6 ,6-7, 7-1 ซึ่งทางเวปไซต์สยามเฮลท์เขียนไว้ได้ดี และบรรยายอาการเจ็บปวดของแอมได้ให้แอมเข้าใจอย่างมาก เพราะบางทีก็ไม่เข้าใจว่าทำไมปวดตึงกล้ามเนื้อหน้าอกเหมือนมีอะไรมาทับ และยืดไม่ได้ ซึ่งถ้าอ่านด้านล่างนี้ และคุณมีอาการปวดคล้ายๆกับที่ทางเวปไซต์ Siamhealth บอกไว้ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีนะคะ
อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ขึ้นกับตำแหน่งของหมอนกระดูกว่ากดทับเส้นประสาทเส้นใด (ของเราก็เจ็บปวดเหมือนอาการด้านล่างดังที่คุณหมอในเวป siamhealth บอกเป๊ะ)
หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทที่อยู่ระหว่างกระดูกข้อที่ 4-5 จะมีอาการอ่อนแรงของกล้มเนื้อหัวไหล่ แต่ไม่มีอาการชามือ
หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทที่อยู่ระหว่างกระดูกข้อที่ 5-6 จะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อด้านหน้า(bicep ) กล้ามเนื้อที่ใช้กระดกข้อมืออ่อนแรง ชาหรือปวดบริเวณมือฝากนิ้วหัวแม่มือ
หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทที่อยู่ระหว่างกระดูกข้อที่ 6-7 จะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อด้านหลัง(triicep ) กล้ามเนื้อที่ใช้เหยียดนิ้วมือ ชาหรือปวดบริเวณริ้วกลาง
หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทที่อยู่ระหว่างกระดูกข้อที่ 7-กระดูกหน้าอกข้อที่1 ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อสำหรับการกำมือ ชาบริเวณมือฝากนิ้วก้อย

แต่ในความเป็นจริงอาการและการตรวจพบอาจจะไม่ตรงไปตรงมา จำเป็นต้องใช้การตรวจพิเศษเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อให้ยาแก้ปวดรับประทานมักมีอาการดีขึ้น เรื่องชาหรืออ่อนแรงอาจจะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์จึงจะกลับสู่ปกติ
จริงๆตัวเราขอเสริมจากเวปสยามเฮลท์ เพราะถ้ารู้สึกว่ากล้ามเนื้อตัวเองตึง โดยส่วนตัวมานั่งย้อนนึกว่าเราเคยมีอาการใดๆที่ส่อว่าจะเป็นมาก่อนหรือไม่ ก็บอกคุณหมอตลอดว่า เป็นคนออกกำลังกายค่ะ แต่ไม่ควบคุมอาหาร เลิกงานก็ไปว่ายน้ำ ทีนี้ถึงแม้เรานั่งทำคอมนานๆก็ไม่เคยที่จะปวดบ่าเลย แต่ก็มานึกๆดู เราก็มีอาการปวดที่กล้ามเนื้อแถวหน้าอกด้านซ้ายตอนกลางคืนบ่อยๆ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จำได้ว่าบอกคนข้างๆว่าสงสัยเราจะเป็นโรคหัวใจ เพราะมันหนักๆที่หัวใจด้านซ้ายจัง แต่ก็คิดว่าอาจจะออกแรงถืออะไรหนัก ซึ่งจริงๆแล้วสิ่งนี้คือสัญญาณที่บอกเราว่าร่างจะไม่ไหวแล้วนะ จึงอยากให้ทุกคนสังเกตุร่างกายตัวเองด้วย เพื่อที่จะรักษาตัวได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
การวินิจฉัยโรค
การตรวจที่ให้ผลแม่นยำได้แก่การตรวจ MRI คือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
การตรวจด้วยเครื่อง CT ร่วมกับการฉีดสีเข้าไขสันหลังจึงจะมีความแม่นยำพอกับการทำ MRI
การตรวจคลื่นไฟ้ฟ้ากล้ามเนื้อ Eletromyography(EMG) เป็นการวัดว่าเส้นประสาทถูกกดทับหรือไม่โดยการเปรียบเทียบข้างที่เป็นโรคกับด้านที่ปกติ
การรักษา
อาการปวดมักจะเกิดจากสาเหตุสองประการคือ เกิดจากการกดทับของเส้นประสาท และเกิดจากการอักเสบ ในการรักษาเบื้องต้นเพียงให้ยาแก้ปวด NSAID ก็เพียงพอที่จะบรรเทาอาการปวด
การทำกายภาพ เช่นการอบร้อน/เย็น การใช้ ultrasound จะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
การดึงคอ จะช่วยลดการกดทับของเส้นประสาท
การจัดกระดูก Chiropractic manipulation อาจจะช่วยลดอาการปวด(ต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจจะทำให้โรคเป็นมากขึ้นหากทำผิด)
การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้อาการเป็นมากขึ้น เช่น การยกของหนัก กิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระแทก เช่นการวิ่ง การนั่งรถที่แล่นทางขรุขระ การนั่งเรือเร็ว เป็นต้น
การใส่ปลอกคอเพื่อให้มีการพักของกระดูกต้นคอ
การใช้ยาแก้ปวดดังกล่าวข้างต้นหากไม่หายอาจจะต้องให้ยา steroid ยาแก้ปวดที่แรงมากขึ้น
การฉีดยาเข้าบริเวณที่ปวด
การรักษาโดยการผ่าตัด
โดยทั่วไปผู้ที่มีหมอนกระดูกทับเส้นประสาทมักจะหายได้เอง หากอาการปวดหรือชาเป็นต่อเนื่องกัน 6-12 สัปดาห์ หรืออาการปวดรุนแรงมาก ก็จำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัด ซึ่งมีวิธีผ่าได้หลายวิธี
Anterior cervical discectomy and fusion หมายถึงการผ่าตัดเพื่อนำเอาหมอนกระดูกออกโดยผ่าตัดส่วนหน้าของคอ แผลกว้างประมาณ หนึ่งนิ้วครึ่ง เมื่อนำหมอนออกแล้วก็เชื่อมกระดูกทั้งสองเข้าด้วยกัน
Anterior discectomy without fusion การผ่าตัดเหมือนกับข้อที่หนึ่งแต่ไม่มีการเชื่อมต่อ ปล่อยไว้กระดูกจะเชื่อต่อกันเอง
Posterior cervical discectomy เป็นการผ่าตัดนำหมอนกระดูกออกโดยผ่าทางด้านหลัง แต่วิธีการผ่าตัดจะยากกว่าการผ่าตัดทางด้านหน้า
โรคแทรกซ้อน
พบไม่มากหากผ่าโดยผู้ชำนาญ โรคแทรกซ้อนที่อาจจะพบได้แก่
ระหว่าการผ่าตัดอาจจะเกิดอุบัติเหตุต่อหลอดลม หลอดอาหาร เส้นเลือดแดงใหญ่
อาจจะมีอุบัติเหตุต่อเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล่องเสียง ทำให้ผู้ป่วยเสียงแหบ
ข้อกระดูกไม่เชื่อม ซึ่งต้องผ่าตัดซ้ำ
อุบัติเหตุต่อเส้นประสาท
เกิดการติดเชื้อ
ปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ การเลือกหมอน การเลือกที่นอน
ขอบพระคุณข้อมูลสำคัญนี้จาก เวปไซต์สยามเฮลท์ ดีมากๆค่ะ http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/rheumatoid/neck_pain/disc.htm#.WNsmhW-GPIU
Comments